ไอเดียสินค้าที่เรามี จริงๆ ควรใช้ วิธีขึ้นรูปพลาสติก แบบไหนในการผลิตกันนะ? เมื่อมองไปในท้องตลาดที่มีสินค้าหน้าตาน่ารัก สวยงามมากมาย หลายชิ้นใช้วัสดุเป็นพลาสติกทั้งนั้นเลย ผู้ประกอบการมือใหม่เองก็อาจมีไอเดียสินค้าหรือนวัตกรรมใหม่ๆในใจบ้าง แต่เพราะไม่คุ้นเคยกับวงการอุตสาหกรรมจึงยังไม่รู้จะใช้วิธีไหนผลิต วันนี้เราจะมาคุยกันว่าไอเดีย product ของคุณ ควรผลิตแบบไหน? มีวิธีการผลิตสินค้าพลาสติกพื้นฐานใดบ้างที่ควรรู้ก่อนจะเริ่มลงมือติดต่อโรงงานแบบอ่านบทความเดียวก็รู้ครบ ไปดูกันเลย!
อยากเลือกอ่าน ทางนี้
7 วิธีขึ้นรูปพลาสติก
1. การ “เป่า” พลาสติก (Blow molding)
ขวดน้ำที่เราซื้อดื่มทุกเช้าหรือขวดชาเขียวแสนอร่อยตามร้านสะดวกซื้อ ล้วนเกิดจากการผลิตแบบ “เป่า” นี่เอง เทคนิคนี้คือการหลอมให้พลาสติกเหลวเป็นสายท่อคล้ายการบีบยาสีฟันจากหลอด แล้วใช้หลอดแก้วเป่าลมเข้าพลาสติกให้เกิดรูปร่างต่างๆตามแม่พิมพ์เหมือนการเป่าลูกโป่ง ข้อดีคือ ต้นทุนค่อนข้างต่ำเพราะใช้เนื้อพลาสติกน้อยที่สุด แต่ก็จะไม่สามารถทำรายละเอียดได้มาก จึงเหมาะกับภาชนะที่มีความกลวง เช่น ขวดบรรจุภัณฑ์ประเภทต่างๆ ขวดน้ำ ขวดน้ำมันเครื่อง แกลลอนน้ำ ขวดแชมพู ขวดนมเปรี้ยว เป็นต้นค่ะ
ภาพขั้นตอนการทำงานของการเป่าพลาสติกแบบง่ายๆ ทั้ง 4 ขั้นตอน ตามรูปด้านล่าง
KEY: สังเกตได้ง่ายๆว่างานเป่าจะมีลักษณะ “กลวง” และสามารถเป่าให้ผนังมีความบางได้มาก เม็ดพลาสติกที่สามารถใช้กับงานเป่านั้นมีหลายชนิด ที่พวกเราคุ้นเคยกัน เช่น เม็ด PET ที่มีความใสโปร่งและใช้ผลิดขวดน้ำนั่นเอง (ที่เราเรียกติดปากว่าขวด PET ค่ะ)
2. การ “ฉีด” พลาสติก (Injection Molding)
ข้าวของมากมายในชีวิตประจำวันของเราเกิดจากกระบวนการผลิตแบบ Injection Molding นี้เอง การฉีดพลาสติกเป็นวิธีการที่ได้รับความนิยิม โดยที่กว่า 70% ของสินค้าพลาสติกใช้วิธีการนี้ผลิต วิธีการคือ ใส่เม็ดพลาสติกและเม็ดสีที่ต้องการในเครื่องจักร จากนั้นหลอมละลายส่วนผสมให้มีลักษณะคล้ายยาสีฟัน เครื่องจักรจะทำการฉีดพลาสติกเหลวใส่แม่พิมพ์ (mold) ชิ้นงานพลาสติกที่ยังร้อนๆนั้นจะได้รับการหล่อเย็น หลังจากจากนั้นจะได้ชิ้นงานพลาสติกตามแบบแม่พิมพ์ออกมาเลย!
KEY: ข้อดี คือ วิธีการนี้ขึ้นรูปพลาสติกตามรูปแบบต่างๆ ที่ต้องการได้ มีความ flexible สูง และเหมาะกับการผลิตปริมาณมากแบบ mass production และเหมาะกับงานพลาสติกหลากหลายรูปแบบ และเป็นวิธีที่ถูกเลือกเมื่อต้องการความละเอียด ทำชิ้นส่วนเล็กๆ และผลิตภัณฑ์ใช้ในชีวิตประจำวันเกือบทุกรูปแบบ ทั้งขนาด สี และรายละเอียด
3. การ “อัดรีด” พลาสติก (Extrusion molding)
วิธีการอัดรีดพลาสติก เป็นการหลอมพลาสติกภายในเครื่องอัดรีด (Extruder) โดยอาศัยทั้งความร้อน แรงเฉือน และความดัน จากนั้นจะดันออกสู่แม่พิมพ์ (Mold) เพื่อขึ้นรูปเป็นแนวยาวตามต้องการ ดังนั้นกระบวนการนี้จึงเหมาะกับการผลิตชิ้นงานที่มีลักษณะยาวยืดและมีความหนาต่ำ เหมาะสมกับการทำท่อ PVC ท่อน้ำ ท่อหุ้มสายไฟ กระสอบพลาสติก ถุงพลาสติก แผ่นฟิล์มพลาสติกแบบบาง หรือผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีความละเอียด ชิ้นงานมีความยาวและมีลักษณะเดียวกันทั้งหมด เป็นต้น
ตัวอย่างชิ้นงาน
จากรูปจะเห็นว่ามีการใส่เม็ดพลาสติกลงไป จากนั้นในเครื่องจักรจะมีการหลอมเม็ดเพื่อส่งออกมาทาง extruder เพื่อทำเป็นชิ้นงานได้หลากหลายรูปแบบ ทั้งแบบ ท่อ (Tubing and Pipes) ชิ้นส่วนพลาสติก (structural part) แผ่นฟิล์มพลาสติก (sheet and film) เพื่อนำไปทำเป็นถุงพลาสติกหรือผลิตภัณฑ์อื่นๆได้ต่อไป
4. การขึ้นรูปพลาสติกแบบ “สูญญากาศ” หรือ Vacuum Forming
การขึ้นรูปแบบสูญญากาศ Vacuum หรือ Thermoforming เป็นการอัดขึ้นรูปพลาสติกแผ่นให้กลายเป็นรูปร่างที่ต้องการ สามารถผลิตชิ้นงานที่เรียบง่ายไม่ซับซ้อน เน้นการใช้งานเป็นบรรจุภัณฑ์ เช่น ถาดหลุม กล่องอาหาร ถ้วยแบบบาง แผ่นซีลปิดชิ้นงาน หรือในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่มีเครื่องจักรพลังงานสูงสามารถอัดขึ้นรูปเป็นชิ้นส่วนใช้ในรถยนต์ได้ด้วย กระบวนการผลิตนี้เหมาะกับชิ้นงานที่ไม่ได้เป็นรูป 3D เพราะงานที่ได้จะออกมาเป็นแบบ 2.5D มากกว่าตามรูปด้านล่าง
วิธีการง่ายๆ มี 3 ขั้นตอน คือ
- เอาแผ่นฟิล์มมาให้ความร้อน จนถึงจุดที่เริ่มอ่อนตัว (โดยอุณหภูมิขึ้นอยู่กับพลาสติกฟิล์มแต่ละชนิด)
- แล้วใช้การดันกดแผ่นฟิล์มให้เข้ากับตัวแบบแม่พิมพ์ แล้วใช้ลมดูดเข้าให้ติดกับแม่พิมพ์คล้ายๆการทำงานของเครื่องดูดฝุ่นที่มีความเป็นสูญญากาศ จึงได้ชื่อว่า Vacuum Forming
- ชิ้นงานจะถูกปลดออกจากพิมพ์โดยการใช้ลมเป่าออก (blow) เพื่อให้ไม่ให้แผ่นฟิล์มที่เข้ารูปตามแม่พิมพ์แล้วเกิดความเสียหายจากการแกะโดยใช้มือ
แม่พิมพ์ของการขึ้นรูปแบบสูญญากาศนั้นมีทั้งแบบนูนออกมา (positive mold) และแบบที่เป็นหลุมลึกลงไป (negative mold) โดยการเลือกแม่พิมพ์ขึ้นอยู่กับรูปทรงของผลิตภัณฑ์ที่เราต้องการขึ้นรูปค่ะ
5. การพิมพ์ 3 มิติ 3D printing
กระบวนการน้องใหม่ที่กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยถูกใช้อย่างแพร่หลายในการทำ rapid prototype หรือตัวอย่างชิ้นงานอย่างเร็ว โดยใช้เทคนิคของการพิมพ์แบบ 2 มิติ มาอยู่ในโลกแบบ 3 มิติ พูดง่ายๆ คือเครื่องพิมพ์ 3D Printer จะทำการเรียงชั้นของวัสดุทีละชั้น และเมื่อเรียงต่อกันแล้วก็จะได้ชิ้นงานที่มีลักษณะเป็น 3 มิติขึ้นมา โดยเรียกวิธีการผลิตแบบว่าการผลิตแบบเรียงชั้น หรือ additive manufacturing นั่นเองค่ะ เทคโนโลยีแยกย่อยภายใต้การพิมพ์ 3 มิติที่แบ่งตามวัสดุและเทคโนโลยีนั้นมีอยู่ด้วยกันประมาณ 4 แบบใหญ่ๆ คือ
- ระบบฉีดเส้นวัสดุ
- ระบบเรซิ่น
- ระบบผงวัสดุ
- ระบบลามิเนต
ในภาพตัวอย่างเราจะเน้นที่ระบบฉีดเส้นวัสดุเป็นหลัก เพราะเป็นระบบที่แพร่หลายและเห็นได้ทั่วไปมากที่สุดค่ะ
เครื่องพิมพ์ 3D Printer ที่เราเห็นกันทั่วไปมักจะเหมาะกับการผลิตงานจำนวนน้อย เช่น การทำ prototype ก่อนผลิตสินค้าจริงเพื่อตรวจสอบลักษณะชิ้นงาน ขนาด หรือระบบการทำงาน เพราะสามารถขึ้นรูปได้อย่างเก็บรายละเอียดได้ค่อนข้างดี
แต่!! ถ้าอยากผลิตปริมาณมากจะมีต้นทุนสูง คุณภาพ ความแข็งแรงทนทานของพลาสติกจะต่ำกว่าการผลิตรูปแบบอื่น และด้วยการผลิตแบบ additive manufacturing ที่เป็นการขึ้นรูปที่ละชั้นทำให้อาจจะเห็นเส้น layer ที่พื้นผิวของงานได้
6. การ “หมุน” ขึ้นรูป (Rotational Molding)
อีกชื่อหนึ่งของกระบวนการนี้ คือ “rotomolding” ใช้สำหรับการขึ้นรูปฟลิตภัณฑ์ชิ้นใหญ่มากๆใช้การหมุนของแม่พิมพ์กลิ้งส่วนผสมของวัสดุในห้องให้ความร้อน (heated chamber) เพื่อทําให้ชิ้นงานเกิดเป็นรูปร่าง กระบวนการขึ้นรูปแบบนี้จะเหมาะสมในการผลิตชิ้นงานซึ่งมีขนาดใหญ่มาก กลวง และไม่มีรอยเชื่อม เช่น ถังบรรจุขนาด 20,000 แกลลอนขึ้นไป การขึ้นรูปของเล่นขนาดใหญ่ แต่อย่างไรก็ตามกระบวนการที่พิเศษนี้ยังสามารถใช้ขึ้นรูปของที่มี “ขนาดเล็ก” ที่ไม่ต้องการให้มีรอยเชื่อม เช่น ลูกปิงปอง ตุ๊กตาของเล่น ได้อีกด้วย (เพราะถ้าใช่กระบวนการอื่นในการผลิตเราจำเป็นจะต้องมีรอยเชื่อมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น การฉีดพลาสติก)
- การใส่วัสดุพลาสติก (loading)
- การให้ความร้อน (heating)
- การหล่อเย็นชิ้นงาน (cooling)
- การนําชิ้นงานออกจากแม่พิมพ์ (unloading)
ข้อดี คือ สามารถขึ้นรูปพลาสติกขนาดใหญ่มากๆได้ เพราะหากใช้วิธีการอื่นจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในส่วนของแม่พิมพ์ที่เป็นเหล็กทั้งก้อนค่อนข้างเยอะ เช่น การฉีดพลาสติก
7. การ “อัดขึ้นรูป” พลาสติก (Compression Molding)
ผลิตภัณฑ์ที่เราคุ้นเคยอย่าง จาน ชาม ถ้วย ที่ทำจาก เมลามีน (Melamine) มักจะถูกขึ้นรูปด้วยวิธีการนี้ การอัดขึ้นรูปเป็นนวัตกรรมการขึ้นรูปที่ใช้กับวัสดุพลาสติกแบเทอร์โมเซ็ตติ้ง (Thermosetting) โดยเป็นการนำผงพลาสติกเมลามีนแบบแข็งตัวที่ได้รับการอบแล้ว มาอัดใส่แม่พิมพ์ เมื่อควบคุมอุณหภูมิและความดันที่เหมาะสมหลังจากอัดใส่แม่พิมพ์แล้วเมลามีนจะกระจายตัวไปตามช่องว่างของแม่พิมพ์ สุดท้ายชิ้นงานจะเย็นตัวเองโดยไม่ต้องอาศัยการหล่อเย็นเหมือนกระบวนการอื่นๆ
ข้อเสียของการผลิตแบบนี้คือ สามารถผลิตชิ้นงานได้จำนวนน้อยและใช้เวลาในวงจรการผลิตค่อนข้างนาน รวมถึงอาจใส่รายละเอียดไม่ได้มากในชิ้นงาน
สรุป
กระบวนการผลิตพลาสติกหลักๆทั้ง 7 แบบเข้าใจได้ง่าย ไม่ซับซ้อน สินค้าที่มีรูปทรง ลักษณะภายนอก และคุณสมบัติแตกต่างกันก็จำเป็นจะต้องใช้กระบวนการผลิตที่แตกต่างกันออกไป เมื่อเรามีพื้นฐานความรู้แล้วว่าสินค้าประเภทไหนใช้วิธีการผลิตแบบใดก็จะเป็นจุดเริ่มต้นของก้าวแรกในการผลิตสินค้าของตัวเองได้
ถึงตาคุณแล้ว 🙂
มาถึงตอนนี้เราก็มีพื้นฐานความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการผลิตพลาสติกหลักๆในโลกนี้แล้ว!เป็นตาของคุณที่จะเริ่มต้นติดต่อโรงงานพลาสติกเพื่อเป็นพาร์ทเนอร์ในการผลิต หากสนใจสร้างธุรกิจหรือแบรนด์ของตัวเอง ลองอ่านเพิ่มเติมที่บทความนี้ 6 ขั้นตอนการผลิตที่ลูกค้าควรรู้ หรือติดต่อมาพูดคุยและปรึกษากับเราได้ โรงงานของเรายินดีให้บริการและประเมินราคาเบื้องต้นให้กับลูกค้าทุกท่าน
โรงงานผลิตพลาสติก ไมตรี อุตสาหกรรม ให้บริการผลิตงานพลาสติกหลายประเภท คุณภาพเยี่ยม
สนใจการออกแบบชิ้นงานหรือสอบถามรายละเอียด
- ที่อยู่ : 37/6 ม.2 ซ.เลิศพัฒนาใต้ ถ.จอมทอง เขต/แขวง จอมทอง กรุงเทพฯ 10150
- โทร : คุณมิ้งค์ 081-490-8005, +662 468 0610
- อีเมล์ : maitreebkk@hotmail.com, maitreebkk@yahoo.com
- เว็บไซต์ : https://maitreeplastic.com
หรือ ช่องทาง social media คลิ๊กเพื่อรับคำปรึกษาได้ทุกเวลา!
- Line ID: @maitreeplastic
- Facebook: รับฉีดพลาสติก ผลิตงานพลาสติก ขึ้นรูป by Maitree Industry ไมตรีอุตสาหกรรม